วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระหลวงปู่จันทร์ สิริจนฺโท


ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์

(พระหลวงปู่จันทร์ สิริจนฺโท)

วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
 
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ มีนามเดิมว่า จันทร์ เกิดเมื่อเวลา 11 ทุ่มเศษ วันศุกร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2399 เป็นบุตรหัวปีของนายสอน นางแก้ว อาชีพทำสวนทำนา  ชาติภูมิอยู่บ้านหนองไหล อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุลบลราชธานี มีพี่น้อง 11 คน ตายเสียแต่ยังเล็ก 4 คนใหญ่มาจนเป็นเหย้าเป็นเรือน 7 คน 
นายสอนซึ่งเป็นบิดาของท่านนั้น ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (ต้นสกุล ชุมพล) ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ทรงตั้งให้เป็นหลวงสุโภรสุประการ ฝ่ายสังฆการี เมืองอุบลราชธานี  ขณะที่ท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี 
เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 ในสมัยเริ่มรัชกาลที่ 5 เมื่ออายุได้ 13 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านหนองไหล เจ้าอธิการโสดา เป็นอุปัชฌายะ ต่อมาได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนัก เจ้าอธิการม้าว เทวธมฺมี วัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นญาติกัน และท่านเจ้าอธิการม้าวเป็นสัทธิวิหาริก (ศิษย์) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
เป็นสามเณรเล่าเรียนอยู่ 7 ปี จนพ.ศ.2417 อายุย่างเข้า 19 ปี กำลังเริ่มเรียนมูลกัจจายน์ ก็ต้องลาสิกขาจากสามเณรมาอยู่กับบิดามารดา 3 ปี ท่านม้าว  พระอุปัชฌายะก็ใช้คนมาตามเอาตัวนายจันทร์ไปบวชอีก วันขึ้น 8 ค่ำเดือน 6 ปีฉลู พ.ศ.2420 นายจันทร์บวชพระ ท่านม้าวเป็นพระอุปัชฌายะ เจ้าอธิการสีโห วัดไชยมงคลเป็นกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วท่านสีโหขอรับตัวไปช่วยกิจวัตรในวัดไชยมงคล  เพราะวัดอยู่ห่างกันแค่ 10 เส้น เวลาเรียนหนังสือให้มาเรียนที่วัดสีทอง
 ต่อมาอีก 4 พรรษา จึงมาอยู่ที่ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ในสำนัก พระปลัดผา ซึ่งถือนิสสัยเป็นอันเตวาสิก หรือศิษย์ของพระอริยมุนี (เอม) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเทพศิรินทราวาส ศึกษาพระปริยัติธรรมกับ พระมหาดิษและพระอาจารย์บุษย์ ปีเศษ ครั้นมีคนบอกว่ามีอาจารย์อีกองค์ ชื่ออาจารย์บุญ บอกหนังสืออยู่ที่วัดกันมาตุยารามดีมาก (อาจารย์บุญผู้นี้ต่อมาคือ  พระยาธรรมปรีชา ท่านมีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดกันมาตุยาราม ท่านเป็นอาจารย์ของผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายท่าน เช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ เป็นต้น) จึงไปขอเรียนในสำนักอาจารย์บุญ ได้ไปพักแรมอยู่วัดกันมาตุยารามเป็นคราวๆ ครั้นพระอริยมุนี (เอม) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์เป็นอหิวาตกโรคถึงมรณภาพแล้ว  พระปลัดผาก็พาพระจันทร์ไปฝากท่านเจ้าคุณวิเชียรมุนี กับมหาอ่อน หรือพระสาสนโสภณ แห่งวัดบุบผาราม จึงย้ายไปอยู่ที่ วัดบุปผาราม จังหวัดธนบุรี ในสำนักพระสาสนโสภณ (อ่อน) แต่ยังเป็นเปรียญฯ
ถึงปีระกา พ.ศ.2428 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรกที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค ในครั้งนั้นท่านเห้นว่าอายุ 31 ปีแล้ว ตั้งใจว่าต่อจากนี้จะไปศึกษาทางวิปัสสนาธุระ จึงได้ทูลลาออกไปอยู่เมืองอุบล กลับไปอุปัฏฐากท่านม้าว วัดสีทองในปีกุน พ.ศ.2430 รวมอยู่วัดบุบผาราม 3 ปี อุปัฏฐากพระอุปัชฌายะอยู่พรรษาหนึ่ง เป็นพรรษาที่ 11  พรรษาที่ 12 มหาจันทร์ออกไปจำพรรษาที่บ้านหนองไหล            โดยปลูกกุฏิอยู่ที่ป่า
 หน้าแล้งปีนั้น เจ้านครจำปาศักดิ์ แต่งกรมการมาขอพระธรรมยุติจากท่านม้าวไปตั้งคณะธรรมยุติที่เมืองนครจำปาศักดิ์ หาคนไปไม่ได้ ที่สุดมหาจันทร์ต้องรับภาระของพระอุปัชฌายะไปจัดการ โดยเดินทางไปยังจำปาศักดิ์ในปลายปี พ.ศ.2431
ในเวลานั้นพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ)) เป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่นั่น พร้อมด้วยเจ้านครจำปาศักดิ์สร้างวัดให้ใหม่ ให้ชื่อว่า วัดมหามาตยาราม มีพระเณรไปเรียนหนังสือด้วย 1-12 องค์ ท่านจึงจำพรรษาที่วัดมหามาตยารามเป็นพรรษาที่ ๑๓
ต่อมาพระยามหาอำมาตย์ กับเจ้านครจำปาศักดิ์พร้อมใจกันมีหนังสือเข้าไปกราบบังคมทูล ขอให้มหาจันทร์เป็นเจ้าคณะสังฆปาโมกข์เมืองนครจำปาศักดิ์ ออกพรรษาแล้ว พอเดือนยี่ก็ได้รับท้องตราให้เข้าไปรับ  สัญญาบัตรที่กรุงเทพฯ  
ได้ออกจากเมืองนครจำปาศักดิ์เมื่อเดือน 3 พ.ศ.2432 ใช้เวลาเดินทาง 3 เดือนจึงถึงกรุงเทพฯ พักจำพรรษาอยู่วัดพิชยญาติการาม กับเจ้าคุณสาสนโสภณ (อ่อน) ผู้เป็นอาจารย์ เวลานั้นยังเป็นพระเมธาธรรมรส เป็นพรรษาที่ 14 
ครั้นถึง ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่พระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ตาลปัตรแฉกทองแผ่ลวดมีนิตยภัตร 8 บาท ถึงเดือน 6 พ.ศ. 2434 กลับออกไปเมืองนครจำปาศักดิ์ เดินทาง 3 เดือนถึงนครจำปาศักดิ์ในเดือน 8  จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์ เป็นพรรษาที่ 15
พรรษาที่ 16 ก็จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์
พรรษาที่ 17 เมื่อไทยเสียดินแดนแถบจำปาศักดิ์ให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436 ท่านจึงได้ทูลลา กลับมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏน์ เมืองอุบล
พรรษาที่ 18 พ.ศ. 2437 เข้ามาจำพรรษาที่วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ การเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ คราวนี้ ทรงตั้งให้ท่านเป็นกรรมการในมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วย ออกพรรษาแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้ไปอยู่วัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นผู้ช่วย หม่อมเจ้า พระศรีสุคตขัติยานุวัตร ผู้เป็นเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสเป็นสมภารพรรษายังไม่ถึง 10 รับนิสัยพระสงฆ์ยังไม่ได้ ให้ท่านไปเป็นผู้รับนิสัยพระสงฆ์ และเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนภาคมคธ​ด้วย
 กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก พ.ศ. ๒๔๓๖
ในแล้งนี้มีกำหนดการแปลพระปริยัติธรรมในท้องสนามหลวงด้วย (สมัยนั้นไม่ได้มีการสอบทุกปี) สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ รับสั่งให้ท่านเข้าแปลประโยค 4 ด้วย ท่านได้เป็นเปรียญ 4 ประโยคในการสอบครั้งนี้
ในพรรษาที่ 19 พ.ศ.2438 นี้ท่านได้ช่วยหม่อมเจ้าพระศรีสุคตฯ อยู่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดพรรษา พอออกพรรษาแล้ว ท่านเห็นว่า ร่างกายไม่มีกำลังพอที่จะทำงาน ถ้าขืนอยู่ในเพศสมณะต่อไปคงเกิดโรคภัยเบียดเบียน ไม่มีทางจะออกตัวอย่างไรได้ เห็นแต่ทางสึกเป็นดีกว่าอย่างอื่น   จึงได้ทูลลาสึก
 ในเดือน 12 ปีนั้น ได้ออกไปเรียนวิปัสสนาอยู่กับเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (สิง) วัดปทุมวนาราม จนถึงเดือนอ้าย ท่านออกไปเจริญวิปัสสนาอยู่ที่เขาคอก ในระหว่างเดือนอ้ายนั้นก็ได้ตรึกตรองถึงชีวิตในภายหน้า จนกระทั่งตัดสินใจได้ว่ายอมถวายตัวเป็นข้าพระรัตนตรัยอยู่ในพระศาสนาตลอดชีวิต จึงได้มีลิขิตเข้ามาถวาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรถึงการตัดสินใจของท่าน ว่าตัดสินใจถวายพรหมจรรย์แก่พระศาสนาแล้ว ด้วยพระองค์ท่านคอยฟังข่าวอยู่ เนื่องจากได้ทูลไว้เมื่อตอนสึกว่า จะออกไปหาที่วิเวกตรึกตรองก่อน พระองค์ทรงพระเมตตาท่านมาก คอยจะทรงอุปการะอยู่
ครั้นตัดสินใจได้แล้วก็เดินรุกขมูลต่อไป ได้ออกไปเที่ยวอยู่ในแขวงเมืองนครราชสีมาตลอดแล้ง จนถึง เดือน 6 พ.ศ. 2439 ได้กลับเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม เป็นปีพรรษาที่ 20
อยู่ที่ วัดพิชัยญาติการาม 1 พรรษา แล้วกลับไปอยู่วัดเทพศิรินทร์อีก ต่อจากนี้ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้ง สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จึงโปรดให้ไปจัดการศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีได้ 2 ปีเศษ
ถึงปีกุน พ.ศ.2442 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต แล้วโปรดให้เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน จึงกลับไปอยู่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี 5 พรรษา ภายหลังขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อยู่ที่วัดเทพศิรินทร์บ้าง ไปธุดงค์บ้าง จนถึงปีมะโรง พ.ศ.2447 จึงโปรดให้อาราธนาไปครองวัดบรมนิวาส ถึงปีระกา พ.ศ.2452 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่                   ที่พระราชกวี
ถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 ทรงโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพโมลี ต่อมาถึง พ.ศ.2458 ได้แต่งหนังสือ เทศน์ เห็นเป็นอันไม่ต้องด้วยรัฐประศาสนโยบายบางประการ อันเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักร จึงถูกถอดจากสมณศักดิ์ คราวหนึ่ง
ครั้นถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กลับตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมธีรราชมหามุนี มีสมณศักดิ์เสมอชั้นเทพ และโปรดให้ครองวัดบรมนิวาสตามเดิม
ถึงปี พ.ศ.2466 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์ เสมอตำแหน่งชั้นธรรม
ครั้นถึง พ.ศ.2468 ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี มีนามในสัญญาบัตรว่า "พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฏกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมาดร สุนทรศีลาทิขันธ์"
ได้เคยรับราชการทางคณะสงฆ์ ในหน้าที่สำคัญๆ หลายตำแหน่งคือ เป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และ มณฑลกรุงเทพฯ
ท่านเป็นพระนักปกครองผู้มีอัธยาศัยงดงาม ให้ความคุ้มครอง และให้ความดีความชอบแก่ผู้น้อย เป็นผู้มีใจกันทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ท่านแสดงธรรมสั่งสอนให้เขาเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาด ชี้ให้เห็นเหตุผล แจ่มแจ้งในกว้างเฉลี่ยลาภผล เกื้อกูลแก่สพรหมจารี ไปอยู่ที่ไหน ก็ยังคุณความดี ให้เกิดแก่หมู่ เป็นคณโสภณผู้ทำหมู่ให้งาม เป็นผู้ฉลาดในเชิงช่าง
นอกจากนี้ ท่านยังใส่ใจในการศึกษาของภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และ กุลบุตรกุลธิดามาก ทั้งภาษาบาลีและไทย เมตตาสั่งสอนให้ได้รู้หนังสือ ท่านมีความ สามารถในการอธิบายอรรถธรรม ให้เข้าใจง่าย และชักชวนให้อาจหาญร่าเริง ในสัมมาปฏิบัติ จัดเป็นธรรมกถึกเอก มีเชาวนะปฏิภาณว่องไวเฉียบแหลม วิจารณ์อรรถธรรมอันลุ่มลึก ให้แจ่มแจ้ง ท่านแต่งหนังสือไว้ทั้ง คำร้อยแก้วทั้งคำกาพย์
เมื่ออยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดมหาอำมาตย์ (วัดนี้พระยามหาอำมาตย์หรุ่น กับ เจ้านครจำปาศักดิ์ สร้าง) ให้ชื่อว่า "โรงเรียนบุรพา​​​สยามเขตร" สอนทั้งภาษาบาลี ทั้งภาษาไทย และยังได้จัดตั้ง "โรงเรียนอุบลวิทยาคม" ขึ้นที่ วัดสุปัฏน์ เช่นกัน ครั้นได้ดำรง ตำแหน่ง เจ้าคณะมณฑล ก็จัดการการศึกษาทั่วไป จนได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้จัดการศึกษา ของกุลบุตรให้เจริญ ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้ถึงวัดสิริจันทรนิมิตร ที่เขาบ่องาม (เขาพระงามในปัจจุบัน) จังหวัดลพบุรีและวัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ ก็ได้จัดการศึกษาของกุลบุตรให้รุ่งเรืองขึ้นโดยควรแก่ฐานะ
แม้ในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ท่านก็ได้สร้างคุณประโยชน์อันมากมาย เช่น การปฏิสังขรณ์ วัดบวรมงคล คือ พระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนวิหารคด การปฏิสังขรณ์วัดบรมนิวาส คือ
พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล
พระอุโบสถแล พระอสีติมหาสาวก วิหารคด และ พระพิชิตมาร ซึ่งเป็นพระประธานในศาลาอุรุพงษ์ คือ เป็นพระลีลาเก่า อัญเชิญมาจาก จังหวัดราชบุรี และได้ให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เช่น โรงเรียนภาษาบาลี และ ภาษาไทย สระน้ำ ศาลาอุรุพงษ์ ส่วนของระฆัง และหอระฆัง มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริวัฒน์เป็นผู้ร่วมสร้าง ตลอดจนกุฏิสร้างใหม่ให้เป็นตึก หอเขียว ซึ่งเป็นกุฏิใหญ่ในวัดนี้ หม่อมเจ้าหญิงเมาลี หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า หม่อมเจ้าหญิงโอฐอ่อน หม่อมเจ้าหญิงคำขาว และ หม่อมเจ้าหญิงรับแข สกุลปราโมช  ทรงร่วมกันสร้างด้วยความสามัคคีธรรมแห่ง คณะญาติ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ประเดิมสร้างวัดเสน่หานุกูล จังหวัดนครปฐม และที่วัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรีนั้น ท่านได้สร้างพระพุทธปฏิมากร อันมีนามว่า พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล ซึ่งมีหน้าตักกว้าง 11 วา 1 ศอก สูงทั้งรัศมี 18 วา อีกทั้ง พระอุโบสถ พระประธาน และ พระกัจจายน์ วิหาร ตลอดถึงถ้ำและกุฏิ ศาลา บ่อน้ำ ท่านเป็นผู้นำในการสร้างมณฑปวัดบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี
ท่านเป็นผู้ยินดีในสัมมาปฏิบัติ สันโดษมักน้อยใฝ่ใจในสัลเลขปฏิบัติ ประกอบด้วยธุดงควัตรเที่ยวรุกขมูล รักษาขนบธรรมเนียม ของสมณะที่ดีไว้มั่นคง มีสติสัมปชัญญคุณทุกเมื่อ มีความเยือกเย็นอาจหาญอดกลั้นทนทานต่อสถานการณ์ต่างๆ แม้ในยามอาพาธ สุดท้าย พิษของโรครุนแรงด้วยทุกขเวทนายิ่งนัก ท่านยังได้ให้โอวาทแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนว่า "เราเป็นนักรบ ได้ฝึกหัดวิธีรบไว้ก็ไม่เสียที ได้ผจญต่อพยาธิธรรมและมรณธรรมจริงๆ ก็อาจหาญอดกลั้นทนทานไม่สะทกสะท้าน มีสติสัมปชัญญคุณรอบคอบไม่หลงใหลไม่ฟั่นเฟือน ไม่กระวนกระวาย หากถึงกาลแตกดับ ก็ไปด้วยความสงบเงียบหายดุจหลับไป" จึงได้ชื่อว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติได้ผลโดยควรแก่ภาวะโดยแท้
ธรรมโอวาท
ท่านได้กล่าวไว้มากมาย ขอคัดลอกมาบางส่วน ดังนี้ คือ 
ที่ว่าร่างกายจิตใจเป็นแก้วสารพัดนึกนั้น พึงพิเคราะห์ดู เรามีตา นึกจะดูอะไรก็ดูได้เรามีหู นึกจะฟังอะไรก็ฟังได้ เรามีจมูก อยากจะรู้กลิ่นอะไรก็รู้ได้ เรามีปาก มีลิ้น นึกอยากจะรู้รสอะไรก็รู้ได้ นึกอยากจะกินอะไรก็กินได้ เรามีมือ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เรามีเท้านึกอยากเดินไปไหนก็ไปได้ เรามีจิตมีใจ นึกอยากจะน้อมนึกตรึกตรองอะไร ก็ได้สมประสงค์ ผู้รู้ตนว่า เป็นของวิเศษอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ได้ความสุข คือ ใช้ตามหน้าที่ ไม่ให้วัตถุเหล่านั้นเป็นข้าศึกแก่ตน คือ เกิดปฏิฆะโทมนัสยินดี ยินร้ายเพราะวัตถุของตน นิสัยของผู้ฉลาด ย่อมไม่ให้วัตถุวิเศษของตนเป็นข้าศึกแก่ตน อารมณ์ที่ผ่านไปผ่านมา เลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่จักเป็นโทษ จงปล่อยผ่านไปเสีย ไม่รับไม่เก็บเข้ามาไว้ คือ หัดชำระวัตถุภายในนี้ ให้ผ่องใส สมกับที่ว่า เป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ทุกเมื่อ อาศัยความหัด บ่อยๆ สติก็แก่ขึ้น วัตถุภายในก็ปราศจากโทษ คือ ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน ให้ความสุขแก่ตนทุกอิริยาบถ จึงสมกับพุทธโอวาท ที่ทรงสั่งสอนว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน
ถ้าว่าโดยสมมติ สกลกายนี้เองเป็นตน ถ้าว่าโดยสกลกายนี้เองเป็นธรรม ที่ว่า อตฺตสรณา ธมฺมสรณา ให้มีตนเป็นที่ระลึกนี้ คือ ให้เห็นว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ความรู้ธรรมเป็นพุทธะ สกลกายที่ทรงคุณความดีไว้เป็นธรรมะ ความประพฤติให้คุณความดี มีขึ้นในตนเป็นสังฆะ ผู้ที่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนอย่างนี้ ชื่อว่า ผู้ถึงไตรสรณคมน์ในชาตินี้
ตลอดชาติชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา ชั้นวิมุตติ ชั้นวิมุตติญาณทัสสนะ สุดแท้แต่วาสนาของใครจะถึงได้ในชั้นใด จะต้องได้รับผล คือ ความสุขตามชั้นตามภูมิของตนทั้งนั้น อย่าเป็นคนสงสัย ลังเลยึดให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างมงายเชื่อเกจิอาจารย์ที่สอน นอกรีตนอกทาง อย่าพากันหลงใหลไปตามเขา เพราะพระนิพพานของ พระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า นิพพานสมบัติ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น มีอัฏฐังคิกมรรค เป็นที่สุด เหล่านี้เป็นนิพพานสมบัติ อย่างอื่นๆ ถ้าไม่เป็นไปตามนี้เป็นอวิชชาทั้งนั้น
พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องประพฤติตนให้มั่งมีเหมือนพระพุทธเจ้า ทั้งสมบัติภายนอกแลสมบัติภายใน
งานประเภทร้อยกรองของ  พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  สิริจันโท  (จันทร)  นั้นยังมีอีก  อย่างเช่น  โลกนิติ์  คำกาพย์ภาษาลาว
  เฮาจักแต่งแปลจากบาลี
  ในคัมภีร์ชื่อ  โลกนิติ์
  บ่ให้ผิดใจความฟังง่าย
  บ่อซื้อจ่ายแต่งไว้เป็นทาน
  สืบลูกหลานต่อวงศ์เมือหน้า
  ลูกหลานข้าฟังแล้วหิ่นตรอง
  เฮ็ดถือคองฮุ่งเฮืองในกว้าง
  เฮาหญ้าว่าตรแต่งภาษิต
  ญาณรักขิต  นามหลวงชื่อตั้ง
  สถิตฮั้งอาวาสของหลวง
  นามกร  บรมนิวาส
  เป็นนักปราชญ์เหตุพระมหินทร์
  ปรมินทร์กุฎกรุงเทพ
  บ่อวดอ้างเฮียนฮู่สู่เซิง
  คิดฮ่ำเพิงลูกหลานชาติเกิด
  นามแต่เค่าเฮาชื่อ  มหาจันทร์
  เกิดอุบลหนองไหลบ้านเก่า
  คิดเหล่าเหล่าเถิงลูกเถิงหลาน
  เถิงกุมารเกิดมาภายซ่อย
  ความฮู้น่อยขยายหน้าบ่อหาย
  ความฉิบหายสืบวงศ์บ่มั่ว
  เฮาสืบพ้อความฮู้เพิ่นสอน
  เป็นคำกลอนบาลีฟังยาก
  สู่ลำลากเพียรแก้แต่งสาร
  ให้ลูกหลานฮ่ำเฮียนจำไว้
  ไปจำได้วงศ์เชื่อส่าลือ
  ไผนับถือสูตรเฮียนฮักไค่
  ไผขาบไหว้นอบนบบูชา
  เกิดปัญญาฮุ่งเฮืองคนย่อง
  ให้พี่น้องไผพ้อหมั่นฟังพ่อเนอ
 
กาพย์หลานสอนปู่
ไผอย่าเกินคำสอนนักปราชญ์ เผิ่นฉลาดชี้ช่องทางดี พระมุนีสั่งสอนต่อไว้

ไผเปนขุนห่ำเพิงให่ฮอด ไผคึดสอดแม่นยอดคองบุญ  ให่ค่อยน่อมหาเจ้าบัณฑิตย์ อย่าให่ผิดฝูงคนนักปราชญ์ อย่าปากก้าข่มท่านยอโต ลูกหลานกูบุญไผแก่ก้า เมือภายหน่าให่ข่อยจำเอา ยากปานนี่อย่าว่ายากหลาย ยากแต่อธิบายสนธิ์นามจ่ายไปเมือหน่า ยากถ่วนหน่าบ่มีถ่อในคลอง ไผส่างปองใจเพียรจิงได้ ไผขี่ค่านบุญเจ่าเสื่อมลง เฮาประสงค์สอนคนภายซ่อย ความฮู่น่อยแก้กาพย์คำหา แก้วดวงตาลาวเปนคูเค่า เฮาจิงเว่าหาตื่มหาแถม หาส่อมแซมคำผิดคำถืก คำลึกล่นเฮาเว่นบ่เขียน เฮาจักเพียงลงพิมพ์ไว้อ่าน เฮาเปนท่านเมืองนอกเมืองใน มีใจใสศรัทธาแผ่กว้าง คึดฮอดเจ่าคนต้นแต่งกอน เปนคำสอนถืกคองเฮาฮู่ เฮาจิงสู่อดหลับอดนอน แก้กาพย์กลอนลงพิมพ์เป็นแบบ ไผพบพ่อบุญส่างแต่หลังเจ่าเอย ฯ

สิริจันโทวาท ยอดคำสอน

บัดนี้เฮาจักแปลสารซี่ ไขกระบวนบนบอก แนะส่องให้ พอฮู่ห่อมทาง อันที่พากันสร่างเฮือนซานตุมลูกอ่อน บ่ห่อนคึดให้หยุ่ง ลุงลังเขี่ยวขุ่นกันนา ให้พากันมีสติตั้ง ประสงค์เสี่ยงกองบุญ คือว่าศีลทานสร่าง บารมีแต่ปางก่อน ขอให้มาส่อยคำ จูงซี่เข่าใส่ทาง

  อนึงให้เจ้าคึดห่ำฮู่ คนิงฮอดคุณพระ คือ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง อย่าขาดวันเย็นเซ่า เหตุพระมีคุณล่น จูงคนจนให้พ้นโศก คนเกิดโรคทุกข์ยากไฮ่ เผิ่นเพียรซี่โผดให้เย็น

  อนึ่งราชาไท่ ตนประเสริฐเจ้าชีวิต บ่แหม่นของดูแคน ให้ฮ่ำเพิงคุณเจ้า เหตุว่าเผิ่นก่อสร้าง ศีลทานบ่ได้ขาด นับชาติบ่อ่านได้ บุญล่นยิ่งกว่าคนแท้แล่ว เหตุว่าบุญเพิ่นมีเหลือล่น เกินคนในประเทศ เทวบุตรเทวดาจึงน่อม เชิญท่าวให้หล่วงลง มาเกิดขึ้น ในชาติเปนมนุษย์ จึงได้บริสุทธิ์พร้อม วงษ์วานเชื่อชาติ ความฉลาดล่ำ ปัญญากว้างนั่งแต่งการแท่แล้ว

 เหตุพระมีบุญล่น ทศราชคลองธรรม คนจึงยำเยงย่าน เกรงฤทธีกลัวเดช เหตุเพื่อบุญเผิ่นกว้าง ควรตุ้มไผ่เมืองเจ้าเอย

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนโท จันทร์)
คัดเป็นบางตอนจาก ภาษาไทยอีสาน สิริจันทร์นิพนธ์
ฉบับพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๐๗ วัดเขาพระงาม

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/65517
 
 
ตนผู้ข้า          พุทธโฆษา
ไหว้วันทา        พุทโธองค์เลิศ
ประเสริฐพ้น     นักปราชญ์บัณฑิต
จักภาษิต          คำสอนต่างๆ
มีหลายอย่าง       ต่างๆ คัมภีร์
ด้วยวิธี                ภาษามคธ
แต่งเป็นบท         คำสอนส่องโลก
เป็นประโยค     ส่องโลกทั้งสาม
ข้อดีงาม          หามาติดต่อ
เป็นดังก่อ           ทางไว้ให้เดิน
ปากใดเกิน       บ่มีความฮู้
มักลบหลู่         คำม่วนจิบหาย
มีอุบาย            ย้อมแดงด้วยหมาก
ปากอันนั้น       นักปราชญ์นินทา
มันเกิดมา         มีปากเสียเปล่า
เหมือนปากเต่า   ปากกุ้งปากหอย

ปากอันใด           เฮียนธรรมฮู้มาก
บ่ลำบาก             ฟังมวนเย็นใจ
ปากนำไผ       เยือกเย็นคือน้ำ
นักปราชญ์เจ้า    ยอย่องว่าดี
ปากมีศรี          ฮุ่งเฮืองวิลาส
ปากสะอาด       คุณล้นบ่ทราม
ของบ่งาม         มีนามหลายอย่าง
สระเปล่าว่าง      หาน้ำบ่มี
เป็นบูรี               หาพระยาบ่ได้
เป็นต้นไม้       ใบเหี้ยนหล่าสม
เป็นงัวนม        ฮีดน้ำบ่ย้อย
เป็นสาวจ้อย     ปะไป่เปลือยโต
นะหิโส              บ่งามความเปรียบ
เพิ่นเทียบไว้       คือดังวาจา
คำมุสา          โกธาส่อเสียด
ให้เพิ่นเคียด  งามน้อยบ่มี
เจ้ามะตี              บัณฑิตฉลาด
อย่าประมาท      จำยอดคำสอน
เป็นอาภรณ์      กลางคนหับปาก
ดังคำหมาก        หับปากเพิ่นเป็น
รสของเย็น      เฮาเห็นมีมาก
รสฟองน้ำ          รสแก่นจันทน์แดง
บ่คางแคง           รสเงาฮ่มไม้
รสหนึ่งได้       แสงส่องเดือนดาว
เป็นรสเย็น       ทั่วกันคนฮู้
เย็นบ่สู้          เสียงม่วนคำสอน
รสของหวาน ชอบกันบ่น้อย
รสหนึ่งอ้อย รสหนึ่งนารี
เป็นรสดี             กินหลายฮู้อิ่ม
ของบ่อิ่ม            รสยอดคำสอน
บ่ห่อนถอน      ยิ่งกินยิ่งแซบ
บ่คับแคบ         ฟังได้ยิ่งหวาน
รสสงสาร        กินเมาทั้งค่าย
รสบ่ฮ้าย             กันแก่เจ็บตาย
อธิบาย               สองอันเพิ่นชี้
รสหนึ่งนี้        คำเฒ่าสั่งสอน
รสที่สอง            คำสอนนักปราชญ์
เพิ่นฉลาด           ชี้ช่องนีรพาน
วิชาการ          เฮียนเอาบ่ได้
เพิ่นกล่าวไว้       มี ๗ ประการ
เดียรฉาน        กับคนประมาท
คนขี้คร้าน          มักหลับมักนอน
คนอาทร            ป่วยโซพยาธิ์
คนอุบาทว์       มักง่ายในกิจ
คนเห็นผิด        ทำการบ่เบื่อ
คนบ่เชื่อ          บ่ชอบวิชา
เป็นศิษย์หา      ให้ครูเห็นชอบ
ให้ประกอบ       คุณไว้ ๕ อัน
อย่าดื้อดัน          นอนหลังตื่นก่อน
อุปฐาก               อย่าผ่อนเพียรทำ
อย่าเถียงคำ      ครูบาสอนง่าย
อย่าเบี่ยงบ่าย      หลบหลีกการงาน
พระอาจารย์       สอนธรรมให้ฮู้
อดสาสู้               ใจน้อมหมั่นเพียร
อุสาห์เฮียน      อย่าหลงมักมาก
เฮียนสมอยาก    ความฮู้บ่จำ
ศิษย์อธรรม        ดังคนปากกืก
ฝันเห็นถืก          มันแก้บ่เป็น
อุปมา                 คนเฮียนธรรมมาก
เฮียนแต่ปาก     คำฮู้บ่สิง
ฝูงชายหญิง      ถามหาความเว้า
เฮ็ดเค่าเม่า        ขายหน้าทั่วดิน
ศาสตรศิลป์      คือตัวความฮู้
อยู่ในตู้               ในพับในลาน
บ่แก่นสาร       ต้องการบ่ได้
คือเฮาไว้             ฝากทรัพย์เงินคำ
วางประจำ          ในมือคนอื่น
ยากพ้นหลื่น       คาวฮ่อนแล่นหา
ปริศนา               สองอันฟังยาก
พากหนึ่งนั้น       ยกย่องยอคุณ
แห่งศัตรู         ตนชังเคืองเคียด
พากหนึ่งนั้น       ด่าเสียดครูตน
กรรมให้ผล      เกิ่งกันเสมอภาค
ใจกับปาก           บิดเลื้ยวต่างกัน
ความสำคัญ      กระจกว่าแก้ว
คันพบแก้ว       กับว่ากระจก
สัตว์นาฮก        หาศีลบ่ได้
เพิ่นกล่าวไว้      ฝูงนั้นใช่คน
ผู้เป็นคน            บัณฑิตนักปราชญ์
เพิ่นองอาจ       ยืนไว้ถ้อยคำ

เห็นกระจก       กระจกบ่แค่ว
เห็นหน่วยแก้ว   ยืนแก้วบ่วาง
ธรรมเป็นกลาง  ชี้ทางนักปราชญ์
ความฉลาด         สามสิ่งเทียมตน
หนึ่งบ่ห่อน      นำของหายาก
สองบ่ห่อน         นำสิ่งจิบหาย
สามจักตาย         สติบ่หล่า
บ่ตั้งว่า               ชายนั้นแก่นคน
ได้มาจากการนำเสนอของ วัฒน ศรีสว่าง
อนุสนธิ์         ชี้ทางชี้เหตุ
อุปเทศ           คนใบ้คนพาล
สามประการ     จื่อจำเอาไว้
หนึ่งขี้ไฮ้            หลงโลภแต่กาม
สองใจหาญ        กำลังตัวน้อย
อยากเกี่ยวก้อย    ถีบปล้ำเถียงแข็ง
แก่คนแฮง       กว่าตนควรย้าน
สามขี้คร้าน      เฮียนน้อยบ่จำ
มักขืนคำ         เถียงคนฮู้มาก
ดูพื้นพาก         คนถ่อยเลวทราม
สามประการ       ดังเดียวเพิงฮู้
หนื่งสู่หลู่        เที่ยวขึ้นตามเฮือน
เขาบ่เตือน        เชิญตนขึ้นบ้าน
สองหน้าด้าน    อวดฮู้อวดงาม
เขาบ่ถาม            อวดตายแต่เว้า
ข้อสามเจ้า          ยอย่องแต่โต
คนโมโห        หามโตคือบ้า
เรื่องถ่อยซา      ฟังแจ้งจื่อเอา

ชายมีเคา         หนวดคางฮิมปาก
แม่นหายาก      ในพื้นแผ่นดิน
อย่าถวิล             คบคนปากเกี้ยง
ให้หลีกเลี่ยง       นอนลี้ผู้เดียว

ผู้เฉลียว              ฮิ่นตรองคำปราชญ์
มารยาท         บอกส่อตระกูล
เสียงเป็นมูล       บอกทางประเทศ
ไปสู่เขต         เคยคุ้นแว่หา
บอกสองขา        ฮักกันเพียงญาดิ
เนื้ออิ่มอาจ      เต็มอ้วนบ่ผอม
บอกอาหาร      ของกินบ่ให้
จำเอาไว้             ทางฮ่อมบัณฑิต
พระอาจารย์     ยกความมาเทียบ
มาเปรียบให้       นาฮกนาจี
มีหลายๆ        ในธรรมะเทศ
ชี้ในเขต             คนยากคนจน
กรรมให้ผล        จิบหายทุกข์ยาก
แสนลำบาก     นาฮกต่อตา
เวทนา            เหลือทนฮ้องไห้
ท่านเปรียบไว้    นาฮกตาเห็น
กรรมแลเวร      ตนทำเพิ่นเคียด
เพิ่นบังเบียด      ยกโทษติเตียน
กิจตนเพียร       หาผลบ่ได้
กรรมสร้างไว้    นาฮกเป็นเฮือน
ท่านผีเผือน       ยกตนบ่ใกล้
ท่านจึงได้        เฮียกชื่อบัณฑิต
เป็นบัณฑิต        ดูคนเพิ่งฮู้
อย่าลบหลู่          ผิดพวกคนดี
คนมีศรี          ๑๕ จำพวก
พวก ๑ นั้น       พ่อแม่ลุงอา
พวกที่ ๒         หมอยาวิเศษ
พวกที่ ๓            หมอเลขคูณหาร
พวกที่ ๔            นายด่านประตู
พวกที่ ๕        คนฮู้หนังสือ
พวกที่ ๖             คนลือพ่อค้า
พวกที่ ๗            คนส่าเศรษฐี
พวกที่ ๘        คนดีพ่อบ้าน
พวกที่ ๙             คนเผ่าราชา
พวกที่ ๑๐       เสนาอำมาตย์
ที่ ๑๑                  องอาจราชา
ที่ ๑๒           สมณานักบวช
ที่ ๑๓                 คนยวดมีคุณ
ที่ ๑๔            คนบุญนักปราชญ์
ที่ ๑๕                 คนฉลาดครูตน
ให้ปะปน           คบหาเข้าโกล้
เป็นมิตรไว้        พาฮุ่งพาเฮือง
ชายโสภา           ใจเย็นนักปราชญ์
ชายฉลาด        หลีกเว้นคนผิด
คนใช่มิตร        ผูกจ่องกรรมเวร
คนมีเข็ญ            หาคุณบ่ได้
คนทุกข์ไฮ้       เกี่ยวหญ้าหาฟืน
บ่ฝ่าฝืน           ผิดเถียงดูหมิ่น
คึดสู่ถิ่น          ทั่วโลกโลกา
กะปูนา           หาหัวบ่ได้
ไผหาให้          เลี้ยงท้องเขาเอง
พวกสัปโป       งูเขียวงูเห่า
ขึ้นต้นไม้         เสือกแล่นตามดิน
ตีนบ่มี            แล่นไวปานม้า
แม่ไก่กล้า        นมจู้อยู่ใส
แม่นผู้ใด         ส่อยมันเลี้ยงลูก
อย่าดูถูก             ชาติลูกคนชาย
คราวจิบหาย     ดูแคนบ่ชอบ
ให้ประกอบ      สงเคราะห์สงหา
ในเวลา               เขาจนเขายาก
เขาลำบาก          ทุกข์ยากแล่นเถิง
อย่าเหิงสา          ความหลังความเก่า
ชาติงูเห่า            คนถ่อยคนพาล
ให้สงสาร       ซ่างมันยามฮ้าย
ส่อยดับฮ้อน      ยามเมื่อไฟเผา
หวังเอาบุญ      ชาติชายใจกว้าง
คึดให้ฮู้           ตัวเปรียบแผ่นดิน
ชาติแผ่นดิน     แน่นหนาบ่คาด
คนพลาดล้ม     ลงเลื้อยบ่เซา
คนใจเบา           ชังดินด่าป้อย
คนใจน้อย       ตัวล้มด่าดิน
ด่าแผ่นดิน       บ่หนีดินได้
เพิ่นเปรียบไว้    นักปราชญ์ใจบุญ
ไผทำบุญ           ทำกรรมทำโทษ
บ่โกรธให้          ยามฮ้อนแล่นหา
บ่ถือสา          คนผิดคนพลาด
ฯลฯ

--------------------------------------------------------
จากการนำเสนอของ วัฒน ศรีสว่าง
 
 
 
ปัจฉิมบท
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจนฺโท (จันทร์) เปรียญ 4 ประโยค เจ้าอาวาส วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร อาพาธเนื่องด้วยโรคชรา ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 คำนวณอายุได้ 77 ปี พรรษา 55 ได้พระราชทานโกศโถ มีชั้นรองสองชั้น ฉัตรเบญจา 4 ประกอบศพเป็นเกียรติยศ